จับตาดู เรตติ้งทีวีไทย กับอิทธิพลบนโลกออนไลน์
จริงหรือไม่ ที่ปัจจุบัน คนดูทีวีน้อยลง…..? เพราะพฤติกรรมของคนในปัจจุบันส่วนใหญ่หันไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การดูรายการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ละคร รายการประกวดร้องเพลง และอื่น ๆ ผ่านทีวีน้อยลงแต่อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมด้านสื่อทีวีก็ยังคงต้องดำเนินธุรกิจกันต่อไป เพราะถึงแม้ว่าช่องทางในการรับชมรายการต่าง ๆ จะไม่ได้ใช้ทีวีเป็นหลัก แต่ทางช่องทางออนไลน์ก็ยังคงจำเป็นต้องมีสื่อเหล่านี้อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่หน้าจอทีวีเช่นกัน
จากผลการสำรวจการจัดอันดับความนิยมการดูทีวีช่องต่าง ๆ ของบริษัทเดอะนีลเส็นคอมปะนีประเทศไทย (จำกัด) ประจำเดือนพฤษภาคม 2560 พบว่า 3 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศ ได้แก่ ช่อง 7 HD ได้เรตติ้งพุ่งทยานขึ้นเป็นดับหนึ่ง 2.692 ตามมาด้วย ช่อง 3 HD 1.777 และช่อง 23 Workpoint 1.443
ซึ่งการจัดอันดับนี้ก็เปรียบเสมือนการมีส่วนร่วมของคนดูกับช่องทีวี จัดเป็นความนิยมของกลุ่มคนทางด้านออฟไลน์ ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจ คือช่องทีวีที่ได้รับความนิยมเหล่านี้ ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนบนโลกออนไลน์ด้วยหรือไม่ …?
เรามาดูกันว่า ความนิยมของกลุ่มคนบนโลกออนไลน์ที่มีต่อช่องทีวีอยู่ในรูปแบบใด
ความนิยมของกลุ่มคนบนโลกออนไลน์ คงเปรียบได้กับการมีส่วนร่วมในโพสต์บนแฟนเพจเฟซบุ๊กของช่องทีวีนั้นๆ
จากการศึกษาข้อมูลการมีส่วนร่วม ระหว่างผู้ชมกับช่องทีวีผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กโดยใช้เครื่องมือ LikeAlyzer พบว่า
ช่องที่ได้รับการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แฟนเพจเฟซบุ๊กสุงที่สุดได้ช่อง 3 HD และ ช่อง 3 SD ซึ่งทั้งสองช่องนี้ มีแฟนเพจเฟซบุ๊ก official เดียวกัน ส่วนอันดับที่ 3 คือช่อง 34 Amarin
ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมทีวีของไทย ยังคงต้องพัฒนาและปรับตัวในการผลิตเนื้อหาและรักษาคุณภาพของรายการต่าง ๆ ในช่อง ให้มีความน่าสนใจและเกิดประโยชน์ต่อคนดู เพื่อให้คนดูนิยมในช่องทีวีของตน
นอกจากนั้น การรักษาความนิยมของกลุ่มคนบนโลกออนไลน์ก็ยังเป็นจุดที่ควรให้ความสนใจ โดยเฉพาะการดูแลและจัดการช่องทางในการติดต่อและรักษาความสัมพันธ์ของฐานผู้ชมบนโลกออนไลน์ ซึ่งได้แก่ แฟนเพจเฟซบุ๊กนั่นเอง ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมทีวีของไทยควรเริ่มดำเนินการดูแลและรักษาความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในแฟนเพจเฟซบุ๊กเพื่อให้ช่องของตนได้รับความนิยมจากกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มนั้น
ซึ่งบทบาทของช่องทีวีในประเทศไทยก็จะต้องปรับเปลี่ยนไป จะไม่ใช่แค่เพียงผลิตเนื้อหารายการที่เผยแพร่ผ่านช่องทีวีเท่านั้น แต่ภาคอุตสาหกรรมทีวียังคงต้องพิจารณาให้ครอบคลุมไปถึงการจัดการแฟนเพจเฟซบุ๊กของตนเองด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงรายการต่าง ๆ รวมไปถึงการมีส่วนรวมกับเนื้อหาในแฟนเพจนั้น ซึ่งการมีส่วนร่วมในแฟนเพจ หรือ Engagement Rate จะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของโพสต์ เนื้อหา และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มคนในแฟนเพจ
และเมื่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ช่องทีวีก็คงต้องถึงเวลาปรับตัวให้สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง
โดย
อาจารย์ธวัชชัย สุขสีดา
ศูนย์ดิจิทัลศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
อ้างอิงข้อมูลจัด Rating TV
บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด