การรู้เท่าทันสื่อในยุคสื่อดิจิทัล
“การรู้เท่าทันสื่อในยุคสื่อดิจิทัล”
ย้อนไปถึงการรู้เท่าทันสื่อในยุคดั้งเดิม มักพูดถึงการรู้เท่าทันสื่อในแบบเท่าทันผลกระทบ จิตวิทยา การถูกครอบครอง ครอบงำ และการตั้งคำถามว่าสื่อนั้นต้องการอะไรจากเรา ทว่าในปัจจุบันนี้การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลนั้น แตกต่างจากสื่อดั้งเดิม เพราะสื่อยุคดิจิทัลนี้ก้าวเข้าสู่ความเป็น “โลกของผู้ใช้สื่อ” (user generated content) ซึ่งหมายความว่าเราเป็นทั้งผู้ชม ผู้อ่าน ผู้ฟัง และกลายเป็นผู้คิดเขียนบอกเล่าแชร์ส่งต่อออกไปด้วย ดังนั้นการรู้เท่าทันสื่อในยุคปัจจุบันหรือยุคดิจิทัล จึงควรพูดถึงการรู้เท่าทัน “ตัวเราเอง” มากกว่า
ดังนั้น ตัวเราควรมีการรู้เท่าทันสื่อในยุคสื่อดิจิทัลที่ควรทราบ มีดังนี้
1.มิติพื้นที่ (space) เราใช้มันบนพื้นที่แบบไหนในยุคดิจิทัลนี้…?
เราควรมีความตระหนักว่าพื้นที่ของสื่อยุคดิจิทัลนั้น มิใช่พื้นที่ส่วนตัวหรือสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันคือ “พื้นที่ส่วนตัวบนพื้นที่สาธารณะ” สมมุติเรานั่งร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้า หรือ ทานอาหารในร้านอาหาร สถานที่แห่งนั้น “เราแค่มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนตัวของเรา” ทว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ พื้นที่นั้นมีคนสร้างขึ้นมาให้เราใช้ต่างหาก เราเพียงแค่รู้สึกเป็นเจ้าของเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทุกๆ อย่างที่เราคิด โพสต์ขึ้นไป จึงไม่ใช่ในขอบเขตพื้นที่ส่วนตัวแต่เป็นพื้นที่สาธารณะเท่านั้นพึงระลึกไว้
2. มิติเวลา (time) เราใช้มันมากน้อยเพียงใดในยุคดิจิทัลนี้…?
ทุกวันนนี้มนุษย์ในยุคสังคมสารสนเทศใช้เวลากับสื่อมากขึ้น ทั้งในพฤติกรรรมการใช้สื่อหลากหลายช่องทางในเวลาเดียวกัน และทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมๆ กัน (multi-platform & multi-tasking) ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อยุคดิจิทัลนั้นจึงหมายความว่า “คุณรู้ว่าใช้เวลากับมันมากเกินไป หรือ ควรรู้ว่า เวลาใดควรใช้หรือควรใส่ใจกับกิจกรรมอื่นๆ บ้าง”
3. มิติตัวตน (self) เราใช้มอง สร้าง ปฏิบัติ และวางกรอบตัวตนอย่างไรในยุคดิจิทัลนี้…?
ลองคิดเรารู้สึกว่าตัวตนที่แท้จริงของเรานั้นคือตัวไหน…? ระหว่างในโลกออนไลน์ ในเกมออนไลน์ ในเฟซบุ๊กหรือตัวเราที่เป็นตัวเนื้อร่างกายที่แท้จริง เรามีตัวตนเดียว หรือ หลายๆ ตัวตน…? วัยรุ่นสมัยนี้ หรือ ผู้ใหญ่บางคนรู้สึกว่าตนเองสามารถสร้างตัวตนจำลอง ร่างอวตารได้หลายๆ ตัว นั่นอาจเป็นข้อดีและข้อแย่ เพราะคนในปัจจุบันจะมีอัตลักษณ์บุคคลหลากหลายมากขึ้น ซึ่งมันแย่แน่ๆ ถ้าคุณเริ่มที่จะ “สับสน”กับการสร้างอัตลักษณ์ของคุณในเฟซบุ๊ก ถ้ามันแตกต่างกันมาก มันก็ย่อมส่งผลเชิงจิตวิทยาอัตลักษณ์ตัวตนของคุณ
4. มิติความเป็นจริง (reality) คุณรู้แน่ใจหรือว่าที่คุณรับรู้นั้นคือความจริง ข้อเท็จจริงหรือความเป็นจริง…?นักรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลต้องเร่งเรียนรู้ เพราะสิ่งที่คุณรู้นั้น อาจไม่ใช่ความจริง แต่เป็นข้อเท็จจริงบางส่วนที่ประกอบสร้างความเป็นจริงขึ้นมากล่อมเกลาคุณให้หลงเชื่อ เช่น ข่าวหรือโฆษณายาทำให้ผิวขาว ยาลดความอ้วนนั่นเอง
5. มิติสังคม (social) เรารู้หรือไม่ว่าเรามีส่วนสร้างและส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง…?
ในโลกยุคดิจิทัลนั้นส่งผลกระทบมากมายต่อชีวิต ทัศนคติ ความรู้ พฤติกรรมและจิตวิญญาณของเราผู้คนมีอำนาจที่จะสื่อสารกับโลก ทุกคนหันมาพูดเรื่องตัวเองมากขึ้น ไม่มีใครใส่ใจจะฟังเรื่องของคนอื่นๆ ทั้งความโกรธ อวดเก่ง ขี้อิจฉา ความรุนแรง อคติ ความเกลียดชัง ต่างถูกโยนทึ้งลงมาที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ แน่นอนว่ามีพลังทั้งด้านบวกด้านลบ มีพลังสร้างสรรค์และทำลายเราทุกคนเป็นผู้ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมได้ทั้งหมด ด้วยเนื้อหา เวลาและสถานการณ์แวดล้อมที่เอื้ออำนวยคำด่า คำชม ข่าวลือ ข่าวจริง ความรัก ความชัง สันติและสงคราม เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้สื่อของเราทุกๆ คน
นี่คือโลกยุคนี้ที่เรียกว่า โลกยุคดิจิทัล ที่ผู้คนทุกๆ คนเริ่มที่จะมีส่วนร่วมสร้างพร้อมๆ กัน ไม่มีใครเป็นผู้มีอำนาจกำหนดความรู้ ความจริง และผูกขาดอำนาจอีกต่อไป เราทุกคนได้กลายมาเป็นนักปฏิวัติ และ นักโฆษณาชวนเชื่อไปพร้อมๆกันการรู้เท่าทันสื่อในแง่นี้จึงหมายถึงใส่ใจคนรอบข้าง เพื่อนคุณ สังคมคุณเพียงพอหรือเปล่า คุณเข้าใจกฎเกณฑ์ กติกาการอยู่ร่วมกันในโลกออนไลน์หรือไม่ ถ้าสื่อยุคดิจิทัลนี้ เป็นที่ๆ ทุกคนเอาระเบิดมาวางใส่ โลกก็จะไม่น่าอยู่ แต่ถ้าทุกคนเอาสติ เอาปัญญาความรู้ ความจริง และเจตนาดี หวังดีต่อกัน โลกก็จะน่าอยู่มากขึ้น
อ.ธวัชชัย สุขสีดา (อ.ต้นรัก)
รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์