การอยู่รอดอย่างปลอดภัยของเยาวชนกับทักษะการเรียนรู้สื่อในโลกยุคดิจิทัล
การอยู่รอดอย่างปลอดภัยของ “เยาวชน” กับทักษะการเรียนรู้ “สื่อ”
ในโลกยุคดิจิทัล
สวัสดีทุกท่าน ณ วันนี้ในสังคมปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลากหลายสื่อในโลกยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนในสังคม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตั้งแต่ตื่นจนนอนหลับ เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมถึงการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม สแนปแชท และอีกหลากหลายเป็นต้น หลายๆท่านก็คงกังวลไม่น้อยว่าสิ่งเหล่านั้นจะให้โทษมากกว่าคุณกับเยาวชนของเราหรือไม่ แต่เมื่อเราอยู่ในโลกยุคดิจิทัลและสังคมของการคิดค้นนวัตกรรมที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร จึงเป็นที่มาว่าเราจะทำอย่างไรกับรูปแบบการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ของเยาวชนในทุกวันนี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเยาวชนในยุคดิจิทัล พวกเขาเกิดมาพร้อมกับสังคมสื่อออนไลน์ที่หลากหลาย ชีวิตของพวกเขาจึงผูกพันอยู่กับสื่อและเทคโนโลยี เราในฐานะผู้ปกครอง ครู และนักการศึกษาจะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นอยู่กับสื่อได้อย่างสร้างสรรค์และได้รับประโยชน์ทางการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลนี้ได้อย่างไร
ซึ่งผมขอบอกว่าในโลกยุคดิจิทัลที่มรมสุมของข้อมูลข่าวสารสื่อออนไลน์มากมายมหาศาล ทั้งดี ไม่ดี เชื่อถือได้ เชื่อถือไม่ได้นั้น มันเป็นความท้าทายของเยาวชนเราในโลกยุคดิจิทัลที่ต้องเผชิญเพื่อความอยู่รอดอย่างอย่างปลอดภัย สิ่งสำคัญในวันนี้เยาวชนของเราต้องมีทักษะในการเรียนรู้ และรู้เท่าทันสื่อด้วยทักษะดังต่อไปนี้
1. ทักษะการเข้าถึงสื่อ
การเข้าถึงสื่อของเยาวชนนั้น คือ การที่เยาวชนได้เข้าถึงสื่อได้อย่างเต็มที่และรวดเร็วทุกที่ทุกเวลาในปัจจุบัน ซึ่งเยาวชนสามารถรับรู้และเข้าใจในเนื้อหาของสื่อในประเภทต่างๆได้เช่นใน เว็บไซต์, เว็บบอร์ด, เครือข่ายสังคมออนไลน์ และ Wikipedia แหล่งข้อมูลออนไลน์ สิ่งเรานี้เยาวชนต้องมีทักษะความสามารถในการเข้าถึงและการใช้งานสื่อได้ พร้อมทั้งต้องทำความเข้าใจเนื้อหา ความหมาย ประโยชน์ และคุณค่าของสื่ออย่างมีประสิทธิภาพถ่องแท้ พร้อมทั้งสามารถจดจำ เข้าใจข้อมูลเนื้อหา ความหมายของคำศัพท์ สัญลักษณ์ และเทคนิคที่ใช้ในการสื่อสารในสื่อต่างนั้นๆได้ โดยเยาวชนต้องสามารถเลือกคัดกรองข้อมูลของสื่อที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองที่ต้องการได้
2. ทักษะการคิดวิเคราะห์สื่อ
การคิดวิเคราะห์สื่อของเยาวชนนั้น คือ การที่เยาวชนสามารถคิดวิเคราะห์ตีความเนื้อหาของสื่อได้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี สิ่งที่สื่อนำเสนอนั้นส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อสังคม การเมืองหรือเศรษฐกิจ โดยเยาวชนนั้นจะต้องใช้พื้นฐานความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้ การสอน การปลูกฝังจากครอบครัวและสถาบันการศึกษา โดยอย่างยิ่งทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเหตุและผล โดยใช้หลักการวิเคราะห์พื้นฐานของสื่อโดยเยาวชนจะต้องสามารถคิดวิเคราะห์ใช้การเปรียบเทียบสื่อไหนดี ไม่ดี หาความแตกต่าง ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เหตุและผลของสื่อที่เชื่อถือได้ หรือเชื่อถือไม่ได้ในโลกดิจิทัลนี้ได้
3. ทักษะการประเมินค่าสื่อ
การประเมินค่าของสื่อสำหรับเยาวชนนั้น เป็นผลจากการเชื่อมโยงที่เยาวชนสามารถคิดวิเคราะห์สื่อที่ผ่านเข้ามาได้ว่าสิ่งไหนดีไม่ดี เชื่อถือได้ไม่ได้ จนทำให้เยาวชนมีทักษะความสามารถที่จะประเมินคุณภาพของสื่อและเนื้อหาสื่อที่พบเจอแล้วสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดคุณค่ากับตนเองและผู้อื่นได้ คุณค่าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคุณค่าที่เกิดขึ้นทางใจ อารมณ์ ความรู้สึก หรือมีคุณค่าทางศีลธรรม จรรยาบรรณ สังคม วัฒนธรรมหรือประเพณี ความสามารถในการประเมินสื่อของเยาวชนสร้างความเกี่ยวข้องกับเนื้อหากับประสบการณ์มุมมองความเห็นในแง่มุมที่หลากหลายของเยาวชนเองได้
4. ทักษะการสร้างสรรค์สื่อ
การสร้างสรรค์เรียนรู้สื่อของเยาวชน นั้นคือการพัฒนาทักษะการสร้างสื่อในแบบฉบับของเยาวชนขึ้นมาเอง เมื่อเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจในตัวของสื่อและเนื้อหาสื่อ เขาจะสามารถวิเคราะห์วิจารณ์ ประเมินค่าของสื่อได้อย่างถ่องแท้ ซึ่งเยาวชนจะต้องวางแผน เขียนเนื้อหา ค้นคว้าข้อมูลเนื้อหามาประกอบ ทำความเข้าใจความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหา โดยการเขียนบรรยายความคิด ใช้คำศัพท์ เสียง หรือการสร้างภาพให้มีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่หลากหลายในแบบวิธีการสร้างสรรค์สื่อแบบฉบับของตนเอง ดังนี้ เยาวชนจะต้องใช้ประโยชน์จากทักษะการเรียนรู้นำมาสร้างสรรค์สื่อตามขั้นตอนโดย การระดมสมอง วางแผน เรียบเรียง และแก้ไขสื่อได้ เยาวชนจะต้องใช้ภาษาเขียนและภาษาพูดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดตามหลักขอภาษาศาสตร์ในการสื่อสารในโลกดิจิทัล จนสุดท้ายจะทำให้เยาวชนมีทักษะในการสร้างสรรค์สื่อได้เป็นอย่างดี
ซึ่งหากเยาวชนของเรามี 4 ทักษะการเรียนรู้สื่อในโลกยุคดิจิทัลนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเยาวชนจะสามารถคิดวิเคราะห์ได้ว่าสื่อไหนดี สื่อไหนไม่ดี สื่อไหนมีประโยชน์ สื่อไหนไม่มีประโยชน์ สื่อไหนเชื่อถือได้ สื่อไหนเชื่อถือไม่ได้ เมื่อพวกเขามีทักษะครบถ้วนเช่นนี้แล้ว ไม่ว่ามรมสุมของข้อมูลข่าวสารของสื่อในปัจจุบันนี้จะถาโถมเข้ามามากน้อยเพียงใด ปัญหาน้อยใหญ่ของพวกเขาก็จะสามารถใช้ทักษะที่กล่าวมานั้น ในทางที่ถูกต้องเพื่อแก้ปัญหานั้นให้ผ่านพ้นไปได้นั่นเอง ดังนั้น คุณผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ คุณครู และทุกๆคนอย่ารอช้า ลองดูสิครับว่าวันนี้เราฝึกให้เยาวชนของเราได้มีทักษะเหล่านี้ในยุคดิจิทัล แล้วรึยัง
อ.ธวัชชัย สุขสีดา (อ.ต้นรัก)
รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์