อัตลักษณ์ของมนุษย์ในโลกโซเชียลมีเดียที่สังคมเป็นผู้หยิบยื่นให้
อัตลักษณ์ของมนุษย์ในโลกโซเชียลมีเดียที่สังคมเป็นผู้หยิบยื่นให้
เข้าสู่ปีใหม่ 2019 ทุกคนมีการปรับเปลี่ยนตนเองพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นในโลกความจริง แต่ในโลกเสมือนที่ควบคู่กันการพัฒนาอัตลักษณ์ของมนุษย์คือการแสดงออกในตัวตนเพื่อให้สังคมได้รับรู้การพัฒนาเปลี่ยนแปลงในโลกโซเชียลมีเดียว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
อัตลักษณ์ของมนุษย์ในโลกโซเชียลมีเดียจึงถือเป็นพื้นที่เสมือนจริงอันกว้างใหญ่มหาศาลที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สื่อได้แสดงออกทางอัตลักษณ์ของตนเอง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การสร้างโปรไฟล์ (Profile) ในโซเชียลมีเดียของผู้ใช้ถือเป็นการนำเอาสื่อใหม่มาใช้เป็นพื้นที่ในการทดสอบและแสดงออกทางตัวตนและอัตลักษณ์การสร้างการปรับเปลี่ยนและจัดแต่งโปรไฟล์ผู้ใช้เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลได้ทดสอบแง่มุมต่าง ๆ ของตนเองโดยวิธีการแสดงออกทางอัตลักษณ์ผ่านโซเชียลมีเดียของผู้ใช้มีหลากหลายรูปแบบผ่านคุณสมบัติเฉพาะของสื่อทั้งด้านภาพเสียงและเนื้อหาการเลือกใช้รูปภาพของตนเองในแบบต่างๆเป็นภาพโปรไฟล์หรือการโพสต์รูปตนเองในแบบและอริยาบทต่าง ๆ ลงบนไทม์ไลน์ถือเป็นการแสดงออกซึ่งตัวตนและอัตลักษณ์ของผู้ใช้เช่นการใช้ภาพตนเองที่ถ่ายตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของการชอบท่องเที่ยวผจญภัย การใช้รูปถ่ายคู่กับครอบครัวและสิ่งของที่ตนรักเพื่อเป็นการแสดงออกทางอัตลักษณ์ที่อบอุ่นของตนเอง
นอกจากนี้ผู้ใช้มักจะเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตนเองเรื่อยๆ เพื่อสะท้อนถึงตัวตนและอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปตามช่วงชีวิตในอกจากนเวลาต่างๆ แล้วการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์และการโพสต์รูปภาพต่าง ๆ บนไทม์ไลน์ในโซเชียลมีเดียยังถือเป็นความเคลื่อนไหวที่บ่งบอกว่าผู้โซเชียลมีเดียนั้นยังมีตัวตนอยู่ในโลกเสมือนจริง
การตั้งชื่อตนเองบนโปรไฟล์ถือเป็นการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของผู้ใช้ ดังจะเห็นได้ว่าในบริบทของผู้ใช้ในประเทศไทยนั้นผู้ใช้บางคนเลือกใช้ชื่อและนามสกุลจริงเป็นชื่อในโปร์ไฟล์ บางคนแทรกชื่อเล่นเข้าไปให้ดูมีความเป็นกันเองไม่เป็นทางการ ในขณะที่บางคนใช้นามแฝงหรือสมญานาม ต่างๆเพื่อสะท้อนตัวตนเช่น “น้องเนยรักโลก” ครั้งที่โด่งดังในโลกโซเชียลในอดีตนั้น ในด้านภาษาที่ใช้ก็เช่นกันบางคนเลือกใช้ภาษาอังกฤษในการกำหนดชื่อโปรไฟล์เพื่อให้ดูเป็นสากล ในขณะที่บางคนเลือกตั้งชื่อโปร์ไฟล์ตนเองให้มีเสียงคล้ายคลึงหรือเหมือนกับภาษาเกาหลีเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ตามยุคสมัยที่แฟชั่นเกาหลีกำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย เป็นต้น
การโพสต์หรือแชร์เนื้อหาต่าง ๆ อาทิเพลง ภาพยนตร์หนังสือดารานักแสดงที่ตนชื่นชอบหรือ ข่าวสารต่างๆถือเป็นการแสดงอัตลักษณ์ด้านรสนิยมของตนเองให้คนอื่นได้รับรู้เช่นการโพสต์หรือแชร์ เรื่องแฟชั่นสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นคนรักสวยรักงาม ขณะที่การโพสต์หรือแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี เป็นการสะท้อนอัตลักษณ์ความทันสมัยของผู้ใช้
การเขียนบรรยายความคิดเห็นและความรู้สึกของตนเองลงในบล็อก (Blog) หรือบนสถานะ (Status) เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการใช้โซเชียลมีเดียในการเป็นพื้นที่แสดงออกทางอัตลักษณ์ โดยสถานะ (Status) ของโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ในการปลดปล่อยและแสดงอิสระทางความคิด อาทิ การแสดงความรู้สึกส่วนตัวในช่วงเวลานั้น การสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและทางการเมืองให้ผู้อื่นได้รับรู้อัตลักษณ์ทางความคิดของตนเอง การบรรยายอารมณ์ความรู้สึกผ่านการเขียนข้อความลงบนโซเชียลมีเดีย รวมทั้งการเลือกใช้รูปภาพ ข้อความและการตั้งชื่อโปร์ไฟล์ต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นวิธีการในการแสดงออกซึ่งความหลากหลายทางอัตลักษณ์ของผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในยุคนี้
จึงถือได้ว่าเป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางอัตลักษณ์ของคนในยุคสังคมสังคมโซเชียลมีเดียที่ตั้งอยู่บนแนวความคิดที่ว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ซึ่งสรุปได้ว่าโลกโซเชียลมีเดียจึงเปรียบเสมือนพื้นที่สร้างตัวตนในสังคมโซเชียลมีเดียที่มนุษย์ในยุคดิจิทัล ได้ใช้ในการค้นหา “วัตถุดิบ” นั้นคือรูปร่าง หน้าตา นิสัย ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ เพื่อปรับปรุงแต่งอัตลักษณ์ของตนให้ดูดีและยังเป็นพื้นที่เสมือนจริง (Virtual Space) ของมนุษย์ในการสำรวจ ทดสอบ ทดลอง ทบทวน และแสดงออกทางอัตลักษณ์ภายใต้วาทกรรมของอำนาจ (Power Discourse) หรือแนวปฏิบัติตามบริบทที่สังคมหยิบยื่นให้เช่น การกด like การกด Wow และกด love กับคนเหล่านั้น
อ.ธวัชชัย สุขสีดา (อ.ต้นรัก)
รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์