“อาจารย์ดิจิทัล” เทคโนโลยีทางการศึกษา

Share:
อ.ต้นรัก

“อาจารย์ดิจิทัล” เทคโนโลยีทางการศึกษา

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในห้องเรียน นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 การเรียนออนไลน์ได้เข้ามาพลิกโฉมรูปแบบการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม จนมองข้ามความสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษาไม่ได้อีกต่อไป แม้จะก้าวล่วงมาถึงกุมภาพันธ์ 2565 แล้วก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดก็ยังไม่ทีท่าว่าจะสิ้นสุด ในประเทศไทยก็ยังต้องให้เยาวชนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมหาวิทยาลัยเรียนออนไลน์เป็นหลัก
วันนี้อาจารย์จึงนำความรู้เกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีการศึกษามาแชร์แบ่งปัน ให้เห็นถึงการพัฒนาทิศทางของการศึกษาด้วยเทคโนโลยี ซึ่งสมัยนี้โลกอินเทอร์เน็ตต่างช่วงชิงความสนใจของผู้ใช้งานให้ไปใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการหาความรู้โดยการเรียนการสอน ถ้าต้องมานั่งเรียนบทเรียนยาว ๆ ผ่านจอเป็นชั่วโมง ๆ ก็คงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ทำให้ครูกับนักเรียนไม่ต้องอยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกัน ทิศทางของการสร้างสื่อการสอนให้เข้าถึงได้สำหรับผู้เรียนต้องหันมาสร้างเนื้อหาบทเรียนขนาดกระชับเพื่อตอบสนองความต้องการผู้เรียน แทนที่จะทำบทเรียนจัดเต็มเป็นชั่วโมง ก็ย่อยเป็นบทเรียนที่ใช้เวลาเพียง 5 – 15 นาทีต่อวัน แต่ยังคงได้อัปเดตความรู้เป็นประจำจนสั่งสมเกิดเป็นวินัยการเรียนรู้ การเรียนรู้แห่งอนาคตจะไม่ได้เป็นการอัดบทเรียนเยอะ ๆ อีกต่อไป แต่จะนำพาไปสู่การปรับบทเรียนตามแต่เฉพาะบุคคล ซึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยสร้าง Personalized learning ก็คือ AI ในการเป็นเครื่องมือคัดสรรแนะนำบทเรียนแก่ผู้เรียนแต่ละคน หลักการทำงานของ AI ก็คล้าย ๆ กับอัลกอริธึมตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ระบบอัลกอริธึมบน Netflix ที่แนะนำภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ผู้ชมน่าจะชอบดูตามประเภทที่ผู้ชมมักรับชมเป็นประจำ ระบบ AI ที่ใช้เพื่อการศึกษาก็เช่นกัน หากผู้เรียนสนใจวิชาหรือทักษะด้านไหนเป็นพิเศษ ระบบ AI บนแพลตฟอร์มการเรียนนั้นก็จะส่งเนื้อหาการเรียนที่ตอบโจทย์หรือใกล้เคียงกับความต้องการหรือลักษณะของผู้เรียนให้มากที่สุด

ในอนาคตผู้สอนอาจารย์จะถูกแทนที่โดยอาจารย์ดิจิทัล AI ที่สามารถคิดและตอบสนองกับผู้เรียนได้โดยใช้เทคโนโลยีการรับรู้ท่าทาง (gesture recognition technology) ที่สามารถให้การตอบสนองต่อผู้เรียนได้ทั้งทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา ในปัจจุบัน สถานศึกษาต่าง ๆ ในโลกนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แบบดิจิทัล (digital learning environment) มากขึ้น โดยพัฒนาสภาพแวดล้อมเสมือนจริงและเครื่องมือเสมือนจริง (virtual environments and platforms) สำหรับผู้เรียน ให้ใช้ AI เกมสามมิติ และคอมพิวเตอร์แอนิเมชัน (computer animation) และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับห้องเรียน AI สามารถให้ข้อมูลได้อย่างแม่นยำและไม่ต้องการการพักผ่อนเฉกเช่นมนุษย์ ด้วยความที่ AI จะเข้ามาทำหน้าที่ในระบบการศึกษาได้ดีและครอบคลุมเกือบทุกด้าน ทำให้เกิดความท้าทายอำนาจและอาชีพในระบบเดิมอย่างครู อาจารย์ หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษาด้วย ความกลัวของครูอาจารย์ผู้สอน ก็คือ AI จะเข้ามาแทนที่เราหรือไม่ เพราะ AI สามารถคิดได้ และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ (ก็คือ ผู้เรียน) ได้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นในอนาคต “คน” ที่ยืนบรรยายอยู่หน้าห้อง อาจไม่ใช่ “อาจารย์มนุษย์” ที่มีเลือดเนื้ออีกต่อไป แต่กลายเป็น อาจารย์ AI แทน เพราะสามารถให้ความรู้ได้ไม่ต่างจาก “อาจารย์มนุษย์” ดังนั้น “อาจารย์มนุษย์” ต่างหากที่กำลังถูกท้าทายให้ต้องรีบปรับตัว 

สรุปได้ว่าเทรนด์เทคโนโลยีทางการศึกษาเกี่ยวกับ AI ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น แม้ไม่ใช่สิ่งใหม่และเป็นที่รู้จักกันมานานหลายปีแล้วแต่สิ่งที่เราจะได้เห็นต่อจากนี้คือ การขยายผลการประยุกต์ใช้งานจริงในวงกว้าง รวมไปถึงการพัฒนาเกิดใหม่ของเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ผู้สอน ผู้เรียน ที่เป็นมนุษย์ ต้องเรียนรู้ พัฒนา ปรับตัว ให้อยู่กับ AI ให้ได้ ไม่ใช่ให้ AI มาสอนแทนเราที่เป็นมนุษย์

 

อ.ดร.ตันรัก ธวัชชัย สุขสีดา อาจารย์วิทยากรด้านออนไลน์ดิจิทัล ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญการตลาดออนไลน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ : หนังสือพิมพ์รายปักษ์ เพื่อการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความเข้มแข็งและมั่นคง.
ประจำเดือน  16-28 กุมภาพันธ์  2565เรื่อง  “อาจารย์ดิจิทัล” เทคโนโลยีทางการศึกษา

 

“อาจารย์ดิจิทัล” เทคโนโลยีทางการศึกษา อ.ต้นรัก

“อาจารย์ดิจิทัล” เทคโนโลยีทางการศึกษา อ.ต้นรัก

 

 

Share: