รู้ทันกลโกง “โอนเงิน” บนโลกออนไลน์เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
รู้ทันกลโกง “โอนเงิน” บนโลกออนไลน์เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
ณ ขณะนี้โลกเรานั้นกำลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติรายได้และความเป็นอยู่จากผลกระทบของโควิด-19 คนจำนวนมากเดือดร้อน ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องบนโลกออนไลน์ ที่ทำให้คนเสพข่าวสารต่างๆ ถึงกับหดหู่ปนหวั่นใจกับกลโกงรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะประเด็น ‘การโดนโกงจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์’ ซึ่งบางกรณีพบว่ามีผู้เสียหายจำนวนมาก อีกทั้งยังคร่าชีวิตคนได้หากผู้ประสบปัญหาไม่เห็นทางออก การโดนโกงจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนคงกังวลกันแน่นอน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่คนไทยมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น การรู้จักหนทางรอดจากปัญหาออนไลน์ รู้ทันกลโกงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และรู้จักช่องทางร้องเรียนปัญหาดีกว่าบ่นโพสต์อย่างไม่มีทางออก จึงเป็นวิธีการที่ดี ทำได้ทันที เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และอยู่ร่วมกันบนโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยอีกด้วย สำหรับการจ่ายเงินค่าสินค้าออนไลน์โดยการโอนเงินซึ่งไม่ยุ่งยากในการดำเนินการ แต่อาจจะไม่สะดวกต่อผู้ซื้อนั้น ทุกวันนี้ธนาคารส่วนใหญ่ได้ให้บริการการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า “Internet Banking” ที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถโอนเงินหรือจ่ายเงินอย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นต้องไปที่ธนาคาร ซึ่งวิธีการทำธุรกรรมออนไลน์ที่มั่นคงและปลอดภัย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้มีดังนี้
1. จำกัดวงเงินการโอนหรือการจ่ายค่าสินค้า ซึ่งธนาคารพาณิชย์ชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทยที่ให้บริการด้านธนาคารทางอินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการจำกัดวงเงินในการโอน หรือจ่ายค่าสินค้าบริการให้อยู่ในขอบเขตที่ผู้ใช้บริการเห็นว่าเหมาะสมและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับบัญชีบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี
2. พิจารณาว่าเว็บไซต์ที่ใช้บริการนั้นมีการเข้ารหัส เช่น รหัส Secure Sockets Layer หรือ SSL ซึ่งนำข้อมูลมาเข้ารหัสพิเศษ ทำให้ข้อมูลที่ส่งไปยังปลายทางนั้นมีความมั่นคงปลอดภัยสูง รวมถึงการตอบกลับจากปลายทางมายังผู้ทำรายการ ซึ่งการเข้ารหัสนี้ จะสามารถถอดแปลงรหัสได้โดยที่ต้องอาศัยตัวแปลงรหัสซึ่งอยู่ที่ต้นทางและปลายทางเท่านั้น
3. ระวังเว็บไซต์ประเภทฟิชชิ่ง (Phishing) ซึ่งเป็นกลวิธีในการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนตัว อันจะนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกล่อลวง ข้อมูลส่วนตัวนั้นมักจะเป็นรหัสประจำตัวต่าง ๆ Password เลขที่บัตรเครดิต เลขที่บัญชี หรือเลขที่บัตรประชาชน
4. กำหนด Password ที่มีความมั่นคงปลอดภัย ไม่ตั้ง Password ที่จำง่าย ถ้าเป็นนไปได้ให้ใช้ตัวอักษรผสมทั้งตัวพิมพ์เล็กและใหญ่ และไม่ควรเลือกฟังก์ชั่นจำ Password อัตโนมัติ
อย่างไรก็ตามหากตกเป็นเหยื่อไปแล้วสามารถร้องเรียนและปรึกษาปัญหาได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint Center) หรือ “1212 OCC” โดย ETDA ที่มีบริการรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คำแนะนำและประสานความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วที่สุด อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
อ.ดร.ตันรัก ธวัชชัย สุขสีดา อาจารย์วิทยากรด้านออนไลน์ดิจิทัล ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญการตลาดออนไลน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ : หนังสือพิมพ์รายปักษ์ เพื่อการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อพัฒนา ประเทศ สู่ความเข้มแข็งและมั่นคง. ประจำเดือน 16-31 มีนาคม 2565 เรื่อง “รู้ทันกลโกง “โอนเงิน” บนโลกออนไลน์เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ”