5 หลักการและแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตัวตน


Share:
5 หลักการและแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตัวตน


5 หลักการและแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตัวตน


จากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ผู้คนกลับไปทำงานที่ชุมชนหรือได้รับธุรกิจตกทอดจากรุ่นสู่ลูกมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การตลาด การจัดจำหน่าย ตลอดจนช่องทางการขาย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการดำเนินธุรกิจจะไม่ใช่รูปแบบเดิมอีกต่อไปปัจจุบันจึงมีปรับการบริหารจัดการใหม่ด้วยการประยุกต์เอาความคิดของคนรุ่นใหม่มาผสมกับประสบการณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จะไม่ยึดฝั่งใดฝั่งหนึ่งเป็นที่ตั้ง แต่จะพยายามปรับสมดุลทั้งสองฝั่งให้เข้ากันระหว่างเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่กับประสบการณ์ความรู้จากคนรุ่นเก่า จึงเกิดเป็นการตลาดแนวใหม่ที่ ทำการค้าขายไม่ผ่านคนกลาง คัดสินค้าคุณภาพส่งถึงมือผู้บริโภค เน้นภาพลักษณ์การขายสินค้ามากขึ้น

ฉะนั้นการสร้างแบรนด์จึงเป็นหัวใจหลักสำคัญในการสร้างภาพจำให้แก่ผู้บริโภค มีการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาเพิ่ม Lifestyle ใส่รสนิยมลงไป ร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่า (Storytelling) หาเสน่ห์จากชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนทำให้ผู้บริโภคเห็นรูปภาพบนผลิตภัณฑ์แล้วเกิดความเข้าใจได้ง่าย โดยต้องอาศัยหลักการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตัวตน ตามข้อมูลหลักการและแนวคิด 5 ข้อ ของกองนโยบายการสร้างความเข้มแข็งทางการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าดังนี้ คือ

1. ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ (Leadership) ชุมชนมีปัจจัยการผลิตทรัพยากร แรงงาน ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หากมีผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ ความคิดก้าวหน้า เห็นทรัพยากรในท้องถิ่นที่มีอยู่นำมาปรับเปลี่ยนแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ค้นหาความโดดเด่นในด้านเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มมูลค่า ก็จะมีส่วนสำคัญทำให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

2.กระบวนการคิดการออกแบบ (Concept design) เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ต้องเน้นการสื่อสารการออกแบบ (Design) ของผลิตภัณฑ์ให้มีสไตล์ มีรสนิยม เพิ่มเสน่ห์ของชุมชน ใส่ความสร้างสรรค์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคหรือนักท่อง เที่ยวให้มาสัมผัสกับผลิตภัณฑ์และมาท่องเที่ยวในชุมชน

3.การสร้างแบรนด์(Branding) ของชุมชน มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสินค้าให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งชุมชนที่ต้องการขายผลิตภัณฑ์จะต้องนึกถึงการสร้างแบรนด์มาเป็นอันดับแรกเพื่อให้เป็นภาพจำที่เกิดประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น ทั้งนี้จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้มีความสร้างสรรค์ ใส่รสนิยม สื่อสารภาพที่อยู่ในแบรนด์อย่างตรงไปตรงมาและนำแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนที่สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDGs) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

4. บรรจุภัณฑ์สินค้า (Packaging) ที่ดีจะต้องมีความแข็งแรง ทนทานรูปทรงสวยงาม รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์จะต้องมีรูปภาพที่โดดเด่นสมดุลกับหีบห่อหรือบรรุภัณฑ์ มีสีสันสวยงามใช้คู่สี (Pantone) ซึ่งการออกแบบต้องคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งาน (User Friendly)และมีความเป็นมาตรฐานสากล

5. การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวในชุมชน จะประสบความสำเร็จจะต้องคำนึงถึงธีมคอนเซ็ปต์(Theme) เพื่อร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกันเริ่มจากชุมชนหมู่บ้าน ผลิตภัณฑ์ชุมชน และกิจกรรมที่สร้างสรรค์ DIY (Do it yourself) เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงคุณค่าของสินค้าและจะส่งผลให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน

ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ชุมชน ควรจะต้องดำเนินการสร้างแบรนด์ (Branding)ทั้งในส่วนของสินค้าบริการและการท่องเที่ยว การสร้างแบรนด์ ถือเป็นหัวใจหลัก การสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตัวตน โดยจะต้องทำการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างภาพจำให้แก่ผู้พบเห็นและให้เกิดความประทับใจ

อ.ดร.ตันรัก ธวัชชัย สุขสีดา อาจารย์ วิทยากรด้านออนไลน์และที่ปรึกษาด้านดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญการตลาดออนไลน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ : หนังสือพิมพ์รายปักษ์ เพื่อการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความเข้มแข็งและมั่นคง. ประจำเดือน  1-15 ตุลาคม 2565 เรื่อง  5 หลักการและแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตัวตน


5 หลักการและแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตัวตน


5 หลักการและแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตัวตน

 

Share: