ชาวดิจิทัลกับโลกใบใหม่ที่ไม่ทิ้งใครไว้อย่างหลัง

Share:

ชาวดิจิทัลกับโลกใบใหม่ที่ไม่ทิ้งใครไว้อย่างหลัง

สวัสดีครับสัปดาห์นี้ขอพูดถึงโลกดิจิทัลที่อยู่ไม่ไกลหลายปีแสงเหมือนไปดวงจันทร์ คนไทยพร้อมแค่ไหนกับสังคมโลกดิจิทัลในอนาคตอันใกล้ ยุคการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลได้มาถึงแล้ว ด้วยนวัตกรรมนับไม่ถ้วนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ทุกคนต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้เพราะยุคนี้ ผู้คนเหล่านั้นคือชาวดิจิทัลที่อยู่ในโลกใบใหม่หรือโลกดิจิทัล แลัวชาวดิจิทัล คือใคร…?

ขออธิบายดังนี้ ชาวดิจิทัล โดยกำเนิด หมายถึง ผู้ที่เกิดในยุคดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีอายุประมาณ 10-29 ปี คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เกิดหลังปี 2537 ปีที่อินเทอร์เน็ตบูม มีการใช้เว็บ และวินโดว์อย่างแพร่หลายจะเรียนรู้ดิจิทัลได้เอง เล่นเกมได้ ใช้เน็ตได้ ใช้คอมเป็น ใช้เวิร์ด ใช้กราฟิกส์ นำเสนองาน โดยไม่ต้องมีใครสอน ติดจากการใช้วินโดว์ที่เป็นมัลติทาสก์ จึงทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน อ่านหนังสือ ทำการบ้านพร้อมฟังเพลง ดูทีวี เล่นเน็ตในเวลาเดียวกันได้
ชาวดิจิทัลอยู่ในสังคมก้มหน้า ใช้เครือข่ายสังคม คุยกันทางแชต ไลน์ ใช้ภาษาอุอิ งุงิ ส่งอารมณ์ด้วยอิโมติคอน สติกเกอร์ ชอบดู มีจินตภาพสูง ไม่ชอบอ่านหนังสือ ทนการอ่านได้ไม่เกินเจ็ดบรรทัด มีจินตนาการในไซเบอร์แบบเสมือนจริง จึงอวตารเป็นอาร์วาร์ต้าแทนตนได้ เป็นบุคคลมีสองโลก โลกจริงกับโลกไซเบอร์ ชอบพบกันในโลกไซเบอร์ เมื่ออยู่กับคอมพิวเตอร์ที่เร็วขึ้นจึงมีความรู้สึกทำอะไรต้องได้รับการตอบสนองเร็ว จึงทนต่อการรอคอยได้ต่ำ งานบริการคนเหล่านี้ต้องเร็ว รอคอยนานเกินเจ็ดนาทีไม่ได้

ชาวดิจิทัลโดยกำเนิดมักออนไลน์ตลอดเวลา ใช้สมาร์ทโฟน 5G เชื่อมเน็ตต้องเร็ว แรงและตลอดเวลา ทำงานผ่านออนไลน์ได้ดี ชอบของใหม่ เป็นสมุนพวกของแบรนเนม เช่น สมุนแอบเปิ้ล แอนดรอยด์ เป็นพวกวัตถุนิยม มีลักษณะ want มากกว่า need ดังนั้นถ้ามีรุ่นใหม่ออก อยากได้มากๆ แถมยังชอบอยู่กับข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก อยู่กับกลุ่มคลาวด์ ชอบเก็บข้อมูลข่าวสารไว้บนก้อนเมฆ จะไม่จดจำอะไร อยากได้อะไรก็เรียกจากคลาวด์เอาได้ เนื่อจากทำอะไรได้รวดเร็ว คนเหล่านี้จึงชอบความเร็ว เขียนแบบสั้นๆ เหมือนภาษา SMS เขียนอธิบายอะไรยาว ๆ ไม่เป็น
เมื่อสังคมชาวดิจิทัลถือกำเนิดขึ้นอย่างเข้มแข็งจนเกิดเป็นโลกใบใหม่อย่างโลกดิจิทัล การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมพลเมืองดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ต้องปรับการใช้ชีวิตหลายอย่าง ทั้งการดูแลตนเอง การใช้ดิจิทัลออนไลน์ เพื่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ การเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการปรับตัวในกิจกรรมออนไลน์ เช่น การทำงานที่บ้าน การเรียนที่บ้าน การสั่งของออนไลน์ การใช้เงินแบบดิจิทัล อย่างไรก็ดีคนรุ่นใหม่ หรือ ชาวพื้นเมืองดิจิทัล สามารถเข้าถึง อ่าน เขียนดิจิทัล สารสนเทศได้มากและเร็ว ใช้ออนไลน์ ใช้สมาร์ทโฟน เพื่อการรับรู้ข่าวสารได้อย่างดี จึงแตกต่างกับคนรุ่นเก่าที่ไม่ถนัดและอาจไม่ชำนาญ ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องช่วยเหลือ ช่วยสอน ให้ความรู้ การรู้เท่าทันสื่อ การสร้างสรรค์สื่อ ใช้สื่อ เพื่อการสื่อสาร เพื่อการเรียนรู้ และสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง สังคม แยกแยะสื่อที่เป็นความจริง (Fact) และความเห็น (Opinion) ออกจากกันได้ รู้ผลกระทบ และ ผลที่ติดตามมาจากการใช้สื่อ ทั้งทักษะความสามารถในการใช้ดิจิทัล เสริมกับอาชีพแห่งตน จัดการดูแลอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนในโลกไซเบอร์  เช่น รหัสผ่าน ลายนิ้วมือ เลขบัตรประชาชน มีความรู้เรื่องพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัย และป้องกันความเสี่ยง โดยคนรุ่นใหม่ชาวดิจิทัลจะไม่ทิ้งคนรุ่นเก่าไว้ข้างหลังในโลกใบใหม่อย่างโลกดิจิทัลนี้

อ.ดร.ตันรัก ธวัชชัย สุขสีดา อาจารย์ วิทยากรด้านออนไลน์และที่ปรึกษาด้านดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญการตลาดออนไลน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ : หนังสือพิมพ์รายปักษ์ เพื่อการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความเข้มแข็งและมั่นคง. ประจำเดือน  1-15 มีนาคม 2566 เรื่อง  ชาวดิจิทัลกับโลกใบใหม่ที่ไม่ทิ้งใครไว้อย่างหลัง

บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ อ.ดร.ต้นรัก ธวัชชัย สุขสีดา
Share: