“ขายผลไม้ออนไลน์” ทางออกของชาวสวนไทยยุคใหม่ อ.ดร.ต้นรัก ธวัชชัย สุขสีดา บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์
“ขายผลไม้ออนไลน์” ทางออกของชาวสวนไทยยุคใหม่ อ.ดร.ต้นรัก ธวัชชัย สุขสีดา บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์
“ขายผลไม้ออนไลน์” ทางออกของชาวสวนไทยยุคใหม่ อ.ดร.ต้นรัก ธวัชชัย สุขสีดา บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์
สวัสดีครับทุกท่านในช่วงปลายเมษาสู่เดือนพฤษภาคมนี้ เป็นช่วงฤดูกาลของหน้าผลไม้ไทย ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง มะยงชิด มะขามป้อม องุ่น ชมพู่ แตงโม ขนุน กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ระกำ ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ผลไม้ไทยคือสุดยอดผลไม้เมืองร้อนที่ทั่วโลกตั้งตารอคอย แต่ระบบการค้าแบบใหม่ชาวส่วนไปเน้นที่ปริมาณไม่เน้นคุณภาพ สร้างปัญหาให้กับผลไม้ไทย เริ่มจากการเข้าสู่ระบบการค้าแบบสมบูรณ์ ชาวสวนในยุคแรกจะภูมิใจมากที่สินค้าของตนเองได้รับออเดอร์จากตลาดต่างประเทศ สวนไหนส่งออกจะได้ทั้งเงินและชื่อเสียงของสวน เนื่องจากตลาดต่างประเทศจะต้องคัดเกรดดีที่สุดและให้ราคาดีที่สุดนั่นเองด้วยเหตุผลหลายอย่างผลักให้คนสวนต้องทำผลผลิตให้มากที่สุด ใหญ่ที่สุด แต่ไม่ต้องอร่อยที่สุด เพราะคนสวนไม่รู้จักคนกิน คนกลางก็มีหน้าที่ไปกว้านซื้อมาไม่รู้ว่าที่ปลายทางใครได้กินแล้วเป็นอย่างไร กล่าวได้ว่าผลไม้ไทยก็คือ สวนมีหน้าที่ปลูก ปลูกมาเท่าไหร่ขายยกสวนให้พ่อค้าไป เมื่อพ่อค้าได้สินค้าแล้วก็แยกเกรด ของดีส่งออกนอก ที่เหลือขายในประเทศ ไม่รู้ใครบ้างที่บริโภคสินค้าของตนเอง ส่วนผู้บริโภคก็เน้นการซื้อที่สะดวก ราคาไม่แพง ไม่ได้คาดหวังกับสินค้า เลือกซื้อเพราะคำเชียร์ของคนขาย นี่คือสิ่งที่กำลังทำลายผลไม้ไทย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผลไม้ฤดูร้อนที่ดีที่สุดในโลก เราควรจะได้กินผลไม้ที่อร่อยกว่านี้ เราควรซื้อหาความพึงพอใจจากการกินผลไม้ในแต่ละที่ที่แตกต่างกัน การสร้างองค์ความรู้ให้กับชาวสวนกับระบบการค้ายุคใหม่ที่รัฐบาลสร้างเรื่อง GI ที่จะบอกว่าผลผลิตท้องถิ่นมีการจดทะเบียน เช่น ที่กทม. มีส้มบางมด ลิ้นจี่บางขุนเทียน แต่แค่นั้นมันยังไม่พอ มันต้องแบบทุเรียนก้านยาวจังหวัดนนทบุรี ที่เล่าต่อกันมาว่าคนซื้อจะไปถึงสวนจองลูกทุเรียนตั้งแต่มันออกดอก และมูลค่าทุเรียนบางลูกแตะหลักหมื่นหลักแสน เรื่องเล่านี้อาจจะเกินเลยไปบ้าง แต่ก็สะท้อนสิ่งที่จำเป็นสำหรับการขายผลไม้ไทยให้ย้อนกลับไปสู่การซื้อขายโดยตรง คนผลิตตั้งใจปลูกและฟูมฟักผลไม้ให้อร่อยที่สุด ขณะที่คนกินหรือคนซื้อได้รู้เรื่องราวตลอดว่าได้กินผลไม้จากสวนไหน ใครปลูก สามารถสืบสาวเรื่องราวย้อนกลับทุกกระบวนการผลิตได้หมด ผลไม้ที่กินเข้าไปจึงไม่ใช่แค่ผลไม้ธรรมดา แต่คนจะกินเรื่องราวของผลไม้ควบคู่ไปด้วย ผลไม้ยุคใหม่จะต้องตัดเรื่องเวลาของพ่อค้าคนกลางออกไป เป็นเวลาของการส่ง เป็นเวลาของการรอลูกค้ามารับซื้อไป ซึ่งแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 1 อาทิตย์ เพราะเวลาเช่นนี้ทำให้คนสวนจะตัดสินค้าที่ยังไม่สุกออกขาย เพราะถ้าตัดสุกพอดีพ่อค้าทั้งหลายไม่มีเวลาที่จะขายสินค้าให้หมดภายในระยะเวลาอันสั้นแน่นอน สู้ซื้อสินค้าดิบและมาใช้น้ำยาเร่งสุกกับผลผลิตต่อวันตามที่คาดการณ์ว่าจะมีคนซื้อเท่าใดจะดีกว่า ซึ่งนั่นเปิดช่องให้การใช้สารเคมีได้เข้ามาสู่ผลไม้โดยไม่จำเป็นที่เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพกำลังทำให้ผลไม้กำลังถอยหลังเข้าคลอง และลดคุณค่าของตัวเองลงไป แต่พลังของโลกใหม่ด้านการสื่อสารแบบดิจิทัลกำลังสร้างระบบเกษตรแบบใหม่ ขึ้นมาแบบเงียบๆ และทรงพลัง เมื่อตัดเวลาออกไปเช่นนี้นั่นเท่ากับสินค้าจะต้องส่งมือผู้บริโภคทันที คนสวนหรือพ่อค้าคนกลางคนที่สองจะต้องมีออเดอร์ที่แน่นอนจากผู้ซื้อปกติ ดังนั้นต้องมีผู้ซื้อที่รู้ว่าผลผลิตของสวนนี้จะออกเมื่อใด มีการจองสินค้าที่แน่นอน รู้จักหรือเคยมีประสบการณ์กับสวนนั้นๆ มาก่อน เรียกว่า มั่นใจในสินค้าจนซื้อแบบไม่ต้องถามราคา
ช่องทางในโลกออนไลน์อย่าง Social Media คือหนึ่งในทางออกที่คนสวนและพ่อค้าคนกลางใช้อยู่ในขณะนี้ เจ้าของสวนหลงลับแล เจ้าของสวนมังคุดอินทรีย์ที่เขาชะเมา เจ้าของสวนลิ้นจี่ค่อมที่อัมพวา และอื่นๆ ต่างๆ ก็หาวิธีสื่อสารบอกเล่าสรรพคุณผลไม้ของสวนตนเองให้กับผู้ซื้อ ทำให้เกิดเรื่องราวและการจองผลผลิตตามมา ผลไม้ในแต่ละสวนมีเท่าไหร่ก็แทบจะถูกเหมาหมด โดยไม่จำเป็นต้องส่งออก หรือขายส่งไปยังตลาดทั่วไป ได้ราคาดี การพัฒนาผลผลิตเกิดขึ้นในทุกปี วันนี้อาจารย์เลยขอนำเทคนิคความรู้ด้านการตลาดออนไลน์มาแบ่งปันสู่ชาวสวนเกษตรกรไทยกับวิธีขายผลไม้ออนไลน์จากสวนยังไงให้ขายดี โดยให้ชาวสวน
1. ใช้ถูกแพลทฟอร์ม แพลทฟอร์มออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็น Facebook ,Line OA, IG, tiktok, Shopee, Lazada, หรือ เว็บไซต์เราต้องเลือกให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายถ้าเลือกใช้ถูกแพลทฟอร์มยอดขายต้องมาแน่นอน
2. หาจุดเด่น สร้างจุดแข็ง การขายออนไลน์ไม่ว่าจะใช้แพลทฟอร์มใดก็ต้องทำให้ลูกค้ารับรู้ถึงจุดเด่นของสวนเราให้ได้ก่อนว่าสวนเรามีดีที่อะไร ทำไมจึงต้องซื้อจากสวนนี้ หากยังไม่มีจุดเด่นก็ต้องทำการค้นหา เราอาจจะมองข้ามบางอย่างไป หากยังไม่มีจุดแข็งก็สร้างมันขึ้นมา ค้นหาจุดเด่นหรือสร้างจุดแข็งของสวนเราที่แตกต่างจากสวนอื่นๆ เช่น ปลอดสารเคมี, ปลูกด้วยดินภูเขาไฟ เป็นต้น
3. ค้นปุ๊บเจอปั๊บ สินค้าหรือบริการใดๆ จะดีแค่ไหนก็ตาม หากว่าลูกค้าหาไม่เจอ ไม่รู้จัก ก็ไม่มียอดขาย สำคัญที่เราต้องทำให้ลูกค้าหาสวนเราให้เจอก่อน โดยการทำ SEM หรือลงทุนซื้อโฆษณา ไม่ว่าจเป็น Google Adwords, Facebook Ad, Ad ใน Shopee หรือ Lazada ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้ลูกค้า เจอสวนของเรา
4. สวนนี้มีเรื่องเล่าและมีเรื่องราว เมื่อสวนมีจุดเด่น หรือความแตกต่างจากสวนอื่นๆ แล้ว เราต้องสร้างการรับรู้ของลูกค้าผ่านเรื่องราว และเรื่องเล่า สวนผลไม้หลายแห่งมีการเล่าเรื่อง Storytelling การเดินทางของสวนตั้งแต่แรกเริ่มว่าจะกลายมาเป็นสวนหรือบางสวนก็เล่าเรื่องของต้นไม้ ถ่ายทอดเรื่องเล่าให้ลูกค้าได้เฝ้าดูการเติบโต การออกดอกออกผล จนลูกค้ารู้สึกเหมือนได้ปลูกเองกับมือ เรื่องราวและเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดออกมาจะทำให้ลูกค้า ทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจไปพร้อมกัน
5. แพคเกจจิ้ง Packaging ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง การขายผลไม้ออนไลน์จะมีข้อจำกัดเรื่องการขนส่งและคุณภาพของผลไม้เมื่อไปถึงมือผู้รับ ดังนั้น หัวใจของการส่งผลไม้คือ Packaging หรือบรรจุภัณฑ์ ต้องลงทุนเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลไม้ชนิดนั้นๆ เช่น ต้องมีการระบายอากาศที่ดี แข็งแรง ไม่ทำให้ผลไม้บอบช้ำ ฯลฯ Packaging ที่ดี จะช่วยรักษาคุณภาพของผลไม้ ให้สดใหม่ สวยงาม น่ารับประทาน นอกจากนั้น จะเพิ่มมูลค่าให้ผลไม้นั้นสามารถนำไปเป็นของขวัญ ของกำนัล ได้อีกด้วย
6. Live สดกระตุ้นยอดขาย การขายของผ่านไลฟ์สดเป็นอีกแนวทางที่นิยมใช้ในการกระตุ้นยอดขาย การเอฟ (F) หรือ ซีเอฟ (CF) ที่ย่อมาจากคอนเฟิร์ม (Confirm) เป็นการสั่งซื้อผลไม้ในขณะที่ทำการไลฟ์ การสั่งซื้อได้ก่อน ลูกค้าคนอื่นๆ เป็นเหมือนชัยชนะที่ได้รับจากการแข่งขันโอลิมปิกของผู้บริโภคสมัยนี้ อร่อยหรือไม่ บางทีไม่แน่ใจเพราะว่ายังไม่ได้ชิม แต่การเอฟ (F) หรือสั่งซื้อทันให้ความรู้สึกของการเป็นผู้ชนะ ลูกค้า จะมีความมุ่งมั่นกับการซื้อเป็นพิเศษ การไลฟ์สดจึงเป็นวิธีที่เพิ่มยอดขายได้เป็นอย่างดี
7.จัดส่งทันใจ มั่นใจว่าจะได้กินของดี การเลือกขนส่งหรือผู้ให้บริการจัดส่งก็มีความสำคัญมากๆ เช่นกัน ลูกค้าทุกคนคาดหวังว่าจะได้สินค้า หรือผลไม้อย่างรวดเร็ว สั่งปุ๊บอยากได้ปั๊บ สั่งวันนี้ได้กินพรุ่งนี้จะดีมากๆ ยิ่งไปกว่านั้น ความรวดเร็วใน การขนส่งมีผลต่อคุณภาพ ความสดใหม่ ของผลไม้เป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงต้องเลือกผู้ให้บริการ ขนส่งที่ไว้ใจได้ว่าผลไม้สวนเราจะไปถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและเรียบร้อยดี ซึ่งในแต่ละพื่้นที่จะมีผู้ ให้บริการที่อาจจะแตกต่างกัน หรือมีจุดเด่นและคุณภาพการให้บริการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องศึกษาให้ดีก่อนเลือกใช้บริการ
8.ชนะใจลูกค้า ตอบเร็ว เคลมเร็ว คืนเงินทันที สิ่งที่ลูกค้ากังวลมากที่สุดเมื่อต้องสั่งซื้อผลไม้ออนไลน์คือกลัวไม่ตรงปก ลูกค้าจะเกิดความกังวลว่า ผลไม้ที่ได้รับตรงกับภาพที่เห็นหรือสิ่งที่คาดหวังหรือไม่ มีคุณภาพสมกับราคาหรือไม่ หากคุณภาพผลไม้ไม่เป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด แม้ว่าอาจจะเกิดจากความผิดพลาดของผู้ให้บริการขนส่งก็ตามการตอบสนองต่อข้อร้องเรียน หรือการตอบแชทรวดเร็ว พร้อมกับรับเคลม เปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ หรือคืนเงินทันที จะเป็นการมัดใจลูกค้าได้เป็นอย่างดี ลูกค้าจะซื้อซ้ำ จะติดดาว ห้าดวง หรืออาจจะรีวิวด้วยคอมเมนท์ที่เลอเลิศ อันจะส่งผลให้ลูกค้ารายอื่นๆ มั่นใจมากยิ่งขึ้น
สรุปได้ว่าบทสรุปของผลไม้ไทย ก็คือ ระบบการค้าที่ใช้การสื่อสารยุคใหม่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคขนานใหญ่ วิธีขายผลไม้ออนไลน์ อาจจะดูเป็นโลกใหม่ของชาวสวน แต่มั่นใจได้ว่าหากชาวสวนพร้อมปรับตัวไปตามโลกใหม่ คุณจะรับออร์เดอร์ไม่หวาดไม่ไหวได้แน่นอน และที่สำคัญไม่ต้องง้อพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป
อ.ดร.ตันรัก ธวัชชัย สุขสีดา อาจารย์ วิทยากรด้านออนไลน์และที่ปรึกษาด้านดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญการตลาดออนไลน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ : หนังสือพิมพ์รายปักษ์ เพื่อการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความเข้มแข็งและมั่นคง. ประจำเดือน 16-30 เมษษยน 2566 เรื่อง “ขายผลไม้ออนไลน์” ทางออกของชาวสวนไทยยุคใหม่ อ.ดร.ต้นรัก ธวัชชัย สุขสีดา บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์