เทคโนโลยีคือชีวิต ชีวิตกับ “เทคโนโลยี” อัจฉริยะ 2023 เตรียมพร้อมรับมือ แต่อย่าตกเป็นทาส!

Share:

ชีวิตกับ “เทคโนโลยี” อัจฉริยะ 2023 เตรียมพร้อมรับมือ แต่อย่าตกเป็นทาส!

เทคโนโลยีกับการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า จนเข้านอนตอนเย็นจะมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การใช้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “อ.ดร.ธวัชชัย สุขสีดา”อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถึงเทรนด์เทคโนโลยี 2023ว่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ถูกกําหนด และผูกพันด้วยเรื่องราวในอดีต ทั้งสภาพสังคม วัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ รวมถึงสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น สภาพภูมิอากาศและสภาพทางภูมิศาสตร์ ปัจจุบันมนุษย์ใช้เวลาอยู่ในบ้านมากขึ้น ดังนั้นบ้านจึงเป็นปัจจัยที่สําคัญ ในการดํารงชีวิต การเข้ามาของเทคโนโลยีทําให้บ้านมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีอัจฉริยะนั้นจําเป็นสําหรับที่อยู่อาศัย ช่วยให้ผู้คนมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตภายในบ้าน และนอกบ้าน โดยมีอุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อให้เข้ากับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น อุปกรณ์สวมใส่นาฬิกาอัจฉริยะที่ช่วยเหลือผู้สวมใส่ให้เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ ทั้งสามารถช่วยประหยัดเวลาของแพทย์ในการวินิจฉัยโรค และเพิ่มประสิทธิภาพของการออกกําลังกาย ผลจากการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะนี้ทำให้วิถีชีวิตมีความเชื่อมต่อกับโลกเทคโนโลยีมากขึ้น ทําให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวขึ้น

และความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนทั้งในสังคมเมือง และในสังคมชนบท อนาคตของการใช้ชีวิตจึงกําลังถูกเร่งให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง คือ เหตุการณ์ หรือแนวโน้มที่ก่อตัว และเกิดขี้นโดยกําลังจะสร้างให้เกิดความ เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสําคัญในอนาคต ดังเช่น

เทคโนโลยีสมาร์ทโฮม (Smart Home) มีต้นทุนที่ลดลงเข้าถึงง่าย ช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้านให้มีความ สะดวกสบาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และยังสามารถให้คําแนะนํา รวมถึงแจ้งเตือน และควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านผ่านการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ดิจิทัลชนิดอื่น เช่น สมาร์ทโฟนหรือ อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ นอกจากนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ที่ก้าวหน้าขึ้น สามารถที่จะสร้างที่อยู่อาศัยได้รวดเร็วทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

อ.ดร.ธวัชชัย กล่าวว่า การเกิดโรคระบาดเป็นตัวเร่งที่ทําให้สาธารณสุข เกิดการนำนวัตกรรมการรักษาใหม่ ๆ มาใช้งาน รวมถึงการปฏิรูปทางดิจิทัลให้มีความทั่วถึง และครอบคลุม ทําให้เกิดเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการรักษา เช่น การใช้หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ (robotics in healthcare) และการรักษาทางไกล (telemedicine) ในการลดความเหลื่อมลํ้าการเข้าถึงการรักษาของประชาชน วิถีชีวิตของเรากําลังถูกความเป็นดิจิทัลผสมผสานเข้ามา และปรับเปลี่ยนวิถีชิวิตของเราให้มีความทันสมัย สิ่งเล็ก ๆ ที่กลายเป็นดิจิทัลนั่น คือ อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (smart wearable) เช่น นาฬิกา แว่นตา ตลอดจนเซ็นเซอร์ หรือไมโครชิป ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของร่างกายเราได้ อุปกรณ์เหล่านี้ สร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิต

โดยวิถีชีวิตจะถูกขับเคลื่อนด้วย “ข้อมูล” ความเป็นส่วนตัวในโลกไซเบอร์จะได้รับความใส่ใจไม่น้อยไปกว่าในโลกความเป็นจริง ความกังวลของผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลจะเกิดขึ้นเพราะอุปกรณ์ ในอนาคตจะสามารถเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของตนเองได้ถึงระดับวิถีชีวิต พฤติกรรมและสุขภาพ ทําให้เรารู้สึกถูกคุกคาม ความเป็นส่วนตัวมากเกินไป (privacy invasion) นอกจากนี้เจ้าของข้อมูล เหล่านั้น ยังจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในการกําหนดชีวิตของผู้ที่ให้ข้อมูลเหล่านั้นด้วย

กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางพฤติกรรมของผู้คน และสภาพแวดล้อมทางสังคม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต นําไปสู่การใช้ชีวิต และการออกแบบวิถีการอยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ การเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่สำคัญ ความเป็นออนไลน์ ทำให้ผู้คนต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มตัว ทั้งปรับตัวด้วยตัวเองและถูกสภาพแวดล้อมบังคับ การปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทําให้วิถีการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไป แพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ครอบคลุมทุกอย่าง ทั้งการเดินทาง การสื่อสาร ความบันเทิง สิ่งเหล่านี้กําลังแทรกซึมวิถีการดำเนินชีวิตผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งช่วยให้เราสามารถเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ผสานกับดําเนินธุรกิจหลากหลายของการใช้ชีวิต ทั้งทางการแพทย์ ซึ่งสามารถใช้แพลตฟอร์มกับอินเทอร์เน็ตและหุ่นยนต์ในการให้บริการได้ บ้านที่ควบคุมได้ด้วยโทรศัพท์ สังคมไร้เงินสด รวมถึงรูปแบบการบริการที่เปลี่ยนแปลงเป็นแบบออนไลน์อุปกรณ์อัจฉริยะ เหล่านี้เข้าถึง “ข้อมูล” สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัวกันไว้ได้เลย

ขณะที่ “น.อ.สรรสิริ สิริสันตคุปต์” นักวิชาการกองทัพอากาศ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ด้านอวกาศและไซเบอร์ กล่าวว่า ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ AI นั้นมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง คุณอาจไม่เห็นคุณค่าของ AI ที่ถูกใช้กันแพร่หลาย เราใช้อัลกอริธึมที่ชาญฉลาด (Smart algorithms) ทุกครั้งที่เราค้นหาบนอินเทอร์เน็ต, ซื้อของออนไลน์, นำทางในขณะที่เราเดินทาง

เลือกใช้วิธีที่สร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง, จัดการตารางเวลาของตัวเอง อีกทั้งดำเนินงานอันนับไม่ถ้วน ทั้งสร้างสรรค์และดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ AI ยังคงมีอยู่ AI ในสายตาของ “ซุนดาร์ พิชัย” CEO ของ Google มองว่า AI มีสำคัญมากในแง่ของผลกระทบที่จะมีต่ออารยธรรมมนุษย์

ระบบนิเวศที่เติบโตเต็มที่ของโซลูชั่น AI แบบไม่มีโค้ด และแพลตฟอร์ม as-a-service จะทำให้เข้าถึงได้มากขึ้น ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและงบประมาณ (ในระดับหนึ่ง) ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงอีกต่อไป ผู้ที่มีความคิดที่ดีจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และบริการใหม่ที่ปรับปรุงด้วย AI ผลิตภัณฑ์นั้นจะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นและดีขึ้น ในปี ค.ศ.2023

สิ่งเกี่ยวกับ AI ที่ถูกเน้นว่าจะได้เห็นกันมากคือ การเพิ่มจำนวนพนักงาน แม้ AI จะนำไปสู่การหายไปของงานที่เราทำในบางประเภทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่งานใหม่จะปรากฏขึ้นมาแทน นายจ้างที่มีความรับผิดชอบจะมองไปข้างหน้า และคิดมากขึ้นในการเป็นผู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ โดยช่วยให้พนักงานสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือใหม่ (Tools) ที่มีได้อย่างเต็มที่

อีกสิ่งเกี่ยวกับ AI ที่ควรติดตามคือ สื่อสังเคราะห์ (Synthetic content) เกี่ยวข้องกับการใช้พลังสร้างสรรค์ของ AI เพื่อสร้างภาพ, เสียง หรือข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อน อัลกอริธึมภาษาธรรมชาติ (Natural language algorithm) ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและสร้างการสื่อสารภาษามนุษย์ได้

หมายความว่า บุคคลในรูปภาพหรือวิดีโอหนึ่งๆ ถูกแทนที่ด้วยลักษณะหรืออากัปกิริยาของบุคคลอื่น สามารถตอบคำถามหรือพูดคุยด้วยเสียงของบุคคลอื่นได้โดยบุคคลในรูป ภาพหรือวิดีโอไม่ต้องพูดคำนั้น เทคโนโลยีแบบเดียวกันเคยใช้ในรูปภาพหรือวิดีโอของนักแสดง ทอม ครูซ บน TikTok ที่ถูกแทนด้วยลักษณะหรืออากัปกิริยาของนักแสดงอื่น (Miles Fisher)

และการแสดงที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมรายการ America’s Got Talent ในปีนี้ (ค.ศ.2022) ในมุมมองถือเป็นเทคโนโลยีอันทรงพลัง ถ้าไม่ควบคุมอาจถูกใช้ในการบิดเบือนหรือสร้างเนื้อหา ภาพและเสียงที่มีศักยภาพสูงสำหรับการหลอกลวง

ซึ่งในปี ค.ศ.2023 เราสามารถคาดหวังได้ ว่าจะเห็นการเติบโตของการใช้ AI ในรูปแบบที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ทั้งในอุตสาหกรรมบันเทิงและทางธุรกิจ

“เทคโนโลยี” ทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องใกล้ตัว เราทุกคนต้องเรียนรู้และเข้าใจ แต่อย่าตกเป็นทาส!

อาจารย์ต้นรัก บทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

อาจารย์ต้นรัก บทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

อาจารย์ต้นรัก บทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

Share: