แนะนำ “สิริ” และ “กูเกิ้ลแอสซิสต์แทน” เพื่อนคู่คิด ชิวิตออนไลน์

แนะนำ “สิริ” และ “กูเกิ้ลแอสซิสต์แทน” เพื่อนคู่คิด ชิวิตออนไลน์
สวัสดีครับบทความนี้ขออนุญาตอ้างอิงเนื้อหาจากบทความของคุณ Xyanyde จากเว็บไซต์ปันโปรที่แนะนำประโยชน์ของผู้ช่วยอัจฉริยะ โดยผมให้คำจำกัดความว่า “เพื่อนคู่คิด ชิวิตออนไลน์” ที่ติดมากับเครื่องสมาร์ทโฟนอย่างไอโฟน iPhone ที่เรียกว่า “สิริ” Siri และที่ติดมากับระบบของแอนดรอยด์ Android ที่เรียกว่า “กูเกิ้ลแอสซิสต์แทน” Google Assistant ซึ่งจากที่ถาม ๆ คนรอบตัวมารู้สึกว่าไม่ค่อยมีใครใช้ประโยชน์จากเพื่อนของเรากันเท่าไหร่เลย…เอาจริง ๆ ถ้าได้ลองคบ ลองคุยกับเพื่อนแล้วละก็ จะรู้ว่าเขาเป็นเพื่อนที่มีประโยชน์กับเรามาก ๆ เลยนะ! ผมก็เลยขอแนะนำส่วนที่ดีของ “เพื่อนคู่คิด ชิวิตออนไลน์” ของ “สิริ” และ “กูเกิ้ลแอสซิสต์แทน” ที่มีประโยชน์ ใช้งานได้จริง และช่วยเราใช้มือถือได้สะดวกขึ้น
ขอบอกเลยว่าผู้ช่วยอัจฉริยะทั้ง “สิริ” และ “กูเกิ้ลแอสซิสต์แทน” นั้นถ้าเรารู้จักใช้คำสั่ง พูดคุยกับพวกเขาแล้วเนี่ยบอกเลยว่ามันเป็นอะไรที่สะดวกมาก ๆ เลยนะเพราะปกติเวลาเราจะทำอะไรซักอย่าง ต้องไถหาแอป ไถหาเมนูที่ต้องการ แล้วค่อยกดเข้าไปเพื่อเลือกคำสั่งอีกที แต่ถ้าเราใช้คำสั่งบอกพวกเขา เขาก็จะจัดการให้เราได้ทันทีเลย…ว่าแต่เราสามารถสั่งอะไรเขาได้บ้าง…?
สำหรับ “สิริ” เราก็สามารถสั่งการเขาได้ทั้ง iPhone และ iPad เลยนะครับ เช่น ถ้าอยากจะสั่งเปิดเพลงเปิดหนัง ก็ให้ใช้คำว่า “หวัดดีสิริ” ในภาษาไทย หรือ Hey Siri ในภาษาอังกฤษ เขาก็จะตอบรับแล้วก็พูดตอบกลับเราได้เลย
ส่วนฝั่งของในมือถือระบบแอนดรอยด์ Android ก็จะเรียกว่า “กูเกิ้ลแอสซิสต์แทน” ได้ทั้งมือถือและแท็บเล็ตเหมือนกัน วิธีเรียกก็คือ “เฮ้ กูเกิ้ล” ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเลยโดยทั้ง 2 ระบบ จะมีคำสั่งเสียงเบสิคที่เหมือน ๆ กัน สามารถสั่งการเป็นภาษาไทยได้เหมือนกันครับ เราลองมาดูคำสั่งที่ใช้สำหรับชีวิตประจำวันคำสั่งประเภทนี้จะช่วยให้เราจัดการกับมือถือได้สะดวกกว่าการจิ้มเอง เพราะไม่ต้องคอยกดเข้าแอปนั้นแอปนี้ก่อน เพราะสั่งพวกเขา พวกเขาก็ทำให้เลย
เช่น เตือนให้ “สิ่งที่ต้องการทำ” ตอน “เวลาที่จะให้เตือน” (Ex. หวัดดีสิริ เตือนให้ ปิดไฟหน้าบ้าน ตอน ห้าทุ่ม / เตือนให้ ทิ้งขยะ ตอน 5 โมงเย็น วันพุธนี้) ตั้งปลุก “เวลาที่ต้องการให้ปลุก” (Ex. หวัดดีสิริ ตั้งปลุกตอนหกโมงเช้าพรุ่งนี้) นับถอยหลัง “ระยะเวลาที่้ต้องการ” (Ex. นับถอยหลัง 5 นาที) จับเวลา “ระยะเวลาที่ต้องการ” (Ex. จับเวลา 10 นาที) เปิดแอป “ชื่อแอปที่ต้องการเปิด” (Ex. เปิดแอป Facebook, เปิดไฟฉาย, เปิดกล้อง) ถ่ายเซลฟี่ให้หน่อย (คำสั่งนี้คือมันจะเปิดแอปกล้องแล้วกดชัตเตอร์ให้เลยนะครับ)
หรือใช้คำสั่งสำหรับค้นหาข้อมูลที่อยากรู้เดี๋ยวนั้นเลย เป็นข้อมูลที่ไม่ต้องอาศัยการรวบรวมจากที่ต่าง ๆ หรือข้อมูลที่เป็นจริงอยู่แล้ว เช่น ถามโจทย์เลขได้ (Ex. 519 คูณ 14 ได้เท่าไหร่) ถามข้อมูลการแปลงค่า (Ex. 2 ไมล์ เท่ากับกี่เมตร, 350 เยน เท่ากับกี่บาท) แปลความหมายภาษาต่างประเทศ (Ex. ห้องน้ำภาษาญี่ปุ่นพูดว่าอะไร) วันนี้พระอาทิตย์ตก/ขึ้น กี่โมง ถามข้อมูลต่าง ๆ (Ex. งูจงอางยาวกี่เมตร, ภูชี้ฟ้าสูงเท่าไหร่) นี่เพลงอะไร (ยื่นมือถือไปใกล้ ๆ ที่มาของเสียงเพลง ให้เสียงเข้าไมค์มากที่สุด)
หรือคำสั่งสำหรับการตั้งค่ามือถือแบบง่าย ๆ เช่น ปิดไวไฟ, เปิดบลูทูธ อะไรแบบนี้ ทำให้เราไม่ต้องเข้าไปกดหาเอง สะดวกขึ้นเยอะ จริง ๆ แล้วคำสั่งเสียงของทั้ง “สิริ” และ “กูเกิ้ลแอสซิสต์แทน” ยังมีเยอะกว่านี้อีกพรึ่บเลยนะครับ แต่นี่คัดมาแบบที่จะช่วยให้เราใช้มือถือได้แบบสะดวกขึ้น เพราะอย่างที่บอกคือไม่ต้องเข้าไปไถหาเมนูแล้วเลือกเปิดเอง แค่บอกผู้ช่วยของเอาก็พอ นอกจากนี้คำสั่งต่าง ๆ ก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องพูดตามที่เราเขียนไว้เป๊ะ ๆ ก็ได้นะครับ อาจจะลองเปลี่ยนคำนิด ๆ หน่อย ๆ ได้ ถ้ามันยังคงความหมายเดิมไว้ครับ
บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ : หนังสือพิมพ์รายปักษ์ เพื่อการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความเข้มแข็งและมั่นคง. โดย อ.ดร.ต้นรัก ธวัชชัย สุขสีดา อาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญการตลาดออนไลน์ดิจิทัล คอลัมนิสต์บทความหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์

